วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland)

              มีขนาดประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร เป็นต่อมที่อยู่ติดกับส่วนล่างของสมองส่วนไฮโปทาลามัส แบ่งได้ 3 ส่วน คือ
1.ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior pituitary)
2.ต่อมใต้สมองส่วนกลาง (Interior pituitary)
3.ต่อมใต้สมองส่วนหลัง (Posterior pituitary)

               ต่อมใต้สมองส่วนหน้าและส่วนกลาง : มีต้นกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อชนิดเดียวกันที่เรียกว่า Adenohypophysis ซึ่งสามารถสร้าง ฮอร์โมนได้เองดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นหน่วยเดียวกันซึ่งถือได้ว่าเป็นต่อมไร้ท่อแท้จริง  
                  ต่อมใต้สมองส่วนหลัง : เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อประสาท ที่เรียกว่า Neurohypophysis


การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

            ต่อมใต้สมองส่วนหน้า : เซลล์ของต่อมใต้สมองส่วนหน้าจะสร้างฮอร์โมนได้ต้องถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนประสาทหรือ รีลีสซิ่งฮอร์โมน (Releasing hormone) ที่สร้างจากนิวโรซีครีทอรีเซลล์ (Neurosecretory cell) ที่มีตัวเซลล์อยู่ที่สมองส่วนไฮโพทาลามัสเสียก่อน










                ต่อมใต้สมองส่วนหลัง  : ไม่ได้สร้างฮอร์โมนได้เอง แต่มีปลายแอกซอนของนิวโรซีครีทอรีเซลล์ จากสมองส่วนไฮโปทาลามัสมาสิ้นสุด และหลั่งฮอร์โมนประสาทออกมาสู่กระแสเลือดเข้าสู่เส้นเลือดที่มาเลี้ยงต่อมใต้สมองส่วนหลัง ดังนั้นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองส่วนหลังก็คือ ฮอร์โมนประสาทนั่นเอง 







ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า

                ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าหรืออะดิโนไฮโปไฟซีส (Anterior pituitary gland หรือ Adenohypophysis) เป็นฮอร์โมนพวกโปรตีน ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน 2 ประเภทคือ กลุ่มแรกเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้อวัยวะเป้าหมายสร้างฮอร์โมนออกมาเรียกฮอร์โมนพวกนี้ว่าฮอร์โมนกระตุ้นซึ่งจะมีคำต่อท้ายว่า " trophic hormone, trophin หรือ stimulating hormone "  ได้แก่ 
1.โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) เรียกย่อว่า GH หรือ โซมาโตโทรฟริน (Somatotrophin)
    เรียกย่อว่า STH 
    อวัยวะเป้าหมาย : อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อที่เป็นส่วนประกอบของ
    ร่างกายทั้งหมดโดยฮอร์โมนจะมีผลทำให้เซลล์เพิ่มการนำกรดอะมิโนเข้าสู่เซลล์และเพิ่มการ
    สังเคราะห์โปรตีนของเซลล์
    หน้าที่ : ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายทั่วๆไป
    ฮอร์โมนมากเกินไป :  1.) เด็ก : ทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายสูงผิดปกติเรียกว่า ไจแกนทิ-
                                                     ซึม (Gigantism) พบในวัยรุ่น ไม่ค่อยพบในวัยเด็ก อาจเกิดจาก
                                                     การที่มีเนื้องอกของเซลล์ที่สร้างฮอร์โมน หรือของไฮโพทาลามัส
                                                     ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติ
                                      2.) ผู้ใหญ่ : ร่างกายจะไม่สูงใหญ่กว่าปกติมากนักแต่ส่วนที่เป็นกระดูก
                                                         ตามแขน ขา คาง กระดูกขากรรไกรและกระดูกแก้ม ยังตอบ
                                                         สนองต่อฮอร์โมนนี้อยู่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกตาม
                                                         บริเวณใบหน้า นิ้วมือ นิ้วเท้า เรียกอาการดังกล่าวนี้ว่า
                                                         อะโครเมกาลี (Acromegaly)
    ฮอร์โมนน้อยเกินไป :  1.) เด็ก : ทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายน้อยผิดปกติเกิดลักษณะเตี้ย
                                                     แคระเรียกว่า Dwarfism
                                      2.) ผู้ใหญ่ : จะไม่มีอาการปรากฏเด่นชัดแต่พบว่าระดับน้ำตาลกลูโคสใน
                                                         เลือดจะต่ำกว่าคนปกติทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อ
                                                         ความเครียดต่างๆทางอารมณ์ได้ และสมองอาจได้รับอันตราย
                                                         จากการขาดน้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงหากเป็นมากอาจถึงแก่
                                                         ชีวิตได้
2.ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle stimulating hormone) เรียกย่อว่า FSH กลุ่มสอง
   เป็นฮอร์โมนที่ไปมีผลต่ออวัยวะเป้าหมายโดยตรงไม่ได้กระตุ้นให้อวัยวะเป้าหมายสร้างฮอร์โมน
   ในผู้ชาย อวัยวะเป้าหมาย : อัณฑะ และ หลอดสร้างอสุจิ
    หน้าที่ : กระตุ้นการเจริญของอัณฑะ และ หลอกสร้างอสุจิให้สร้างอสุจิ
     ในผู้หญิง อวัยวะเป้าหมาย : ฟอลลิเคิล ( follicle ) ที่อยู่ในรังไข่
    หน้าที่ : กระตุ้นการเจริญของฟอลลิเคิลและเพื่อให้ฟอลลิเคิลสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจนซึ่งเป็น
                 ฮอร์โมนที่กระตุ้นการแสดงออกลักษณะของเพศหญิง

3.ลูทิไนซิง ฮอร์โมน (Luteinizing hormone) เรียกย่อว่า LH หรือ อินเตอร์สติเชียลเซลล์ สติ-
   มิวเลติงฮอร์โมน (Interstitial cell stimulating hormone) เรียกย่อว่า ICSH
   ในผู้ชาย อวัยวะเป้าหมาย : กลุ่มเซลล์อินเตอร์สติเชียล (Interstitial cell) หรือ เซลล์เลย์ดิก
   (Leydig cell) ที่แทรกอยู่ระหว่างหลอดสร้างอสุจิ
   ในผู้หญิง อวัยวะเป้าหมาย : ฟอลลิเคิล ( follicle ) ในรังไข่
   หน้าที่ : กระตุ้นการตกไข่จากฟอลลิเคิลและกระตุ้นให้เกิดคอปัสลูเทียมและสร้างฮอร์โมนโพร-
                เจสเทอโรนทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนเอสโทรเจน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่รังไข่และ
                มดลูกเพื่อรอรับการฝังตัวของเอ็มบริโอ
4.โพรแลกทิน (Prolactin) เรียกย่อว่า PRL
    อวัยวะเป้าหมาย: เซลล์ต่อมน้ำนม
    หน้าที่ : กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนมในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และขณะเลี้ยงทารกและพบว่าขณะ
                 ที่ทารกดูดนมแม่จะมีการกระตุ้นให้หลั่ง ฮอร์โมนนี้เพิ่มมากขึ้นทำให้มีน้ำนมเลี้ยงทารก
                 ตลอดเวลาแต่ถ้ามารดาที่ไม่ให้นมทารกการหลั่งฮอร์โมนนี้จะน้อยลงมีผลทำให้ต่อม
                 น้ำนมหยุดสร้างน้ำนม
5.อะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิก ฮอร์โมน (Adrenocortico trophic hormone)  เรียกย่อว่า ACTH
   อวัยวะเป้าหมาย : ต่อมหมวกไตส่วนนอก
   หน้าที่ : กระตุ้นต่อมหมวกไตส่วนนอกให้สร้างและหลั่งฮอร์โมนตามปกติ
6.ไทรอยด์สติมิวเลติงฮอร์โมน (Thyroid stimulating hormone) เรียกย่อว่า TSH
    อวัยวะเป้าหมาย : ต่อมไทรอยด์
    หน้าที่ : กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างและหลั่งฮอร์โมนตามปกติ
7.เอนดอร์ฟิน (Endorphin)  เป็นสารที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนพบว่ามีแหล่งสร้างจากต่อมใต้สมอง
    ส่วนหน้า และอาจสร้างจากเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆอีกด้วย เป็นสารที่ทำหน้าที่ระงับความเจ็บปวดและ
    เชื่อกันว่าเอนดอร์ฟีนยังเป็นสารที่ทำให้เรามีความคิดในทางสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มความตื่นตัวมี
    ชีวิตชีวาและความสุข ซึ่งสารนี้จะหลั่งเมื่อเราออกกำลังกายหรือเมื่อเรามีอารมณ์แจ่มใส จึงเรียก
    สารที่หลั่งมานี้ว่า สารแห่งความสุข


ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนกลาง

                จะมีความสำคัญและหน้าที่เด่นชัดเฉพาะในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังบางชนิดเท่านั้น โดยทำหน้าที่ผลิตและหลั่งเมลาโนไซต์สติมิวเลติงฮอร์โมน (Melanocyte-stimulating hormone = MSH) จะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ที่แทรกอยู่ระหว่าง หนังกำพร้า (Epidermis) และหนังแท้ (Dermis) ให้สังเคราะห์รงควัตถุสีน้ำตาล-ดำที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) นอกจากนั้น MSH ยังทำหน้าที่กระตุ้นให้เมลานินภายในเมลาโนไซต์กระจายตัวออกไปทั่วเซลล์ เป็นให้สีผิวเข้มขึ้น
                ในสัตว์จำพวกปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดสามารถเปลี่ยนสีผิวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อการพรางตัวได้อย่างรวดเร็วการเปลี่ยนสีผิวดังกล่าวเกิดจากการกระจายตัวของ เมลานินภายในเมลาโนไซต์ซึ่งได้รับการกระตุ้นจาก MSH นั่นเอง
                ในคนต่อมใต้สมองส่วนกลางจะมีขนาดเล็กมาก และจัดเป็นส่วนหนึ่งของต่อมใต้สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ผลิตและหลั่ง MSH ซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับ ACTH มาก แต่ไม่มีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน


ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหลัง


                  เจริญมาจากเนื้อเยื่อประสาท ต่อมใต้สมองส่วนหลังเป็นที่เก็บฮอร์โมนสองชนิดที่หลั่งจากของใยประสาทแอกซอน (Axon) ของนิวโรซีครีทอรีเซลล์ที่ตัวเซลล์อยู่ที่สมองส่วนไฮโพทาลามัสฮอร์โมนจะเคลื่อนที่ตามเส้นประสาทแอกซอนและมาเก็บไว้ที่ต่อมใต้สมองส่วนหลัง เมื่อเซลล์ประสาทได้รับการกระตุ้น ฮอร์โมนที่เก็บไว้จะถูกหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะเป้าหมายเป็นพวกโปรตีนฮอร์โมน

1.วาโซเพรสซินหรือแอนตี้ไดยูเรติกฮอร์โมน (Antidiuretic hormone) เรียกย่อว่า  ADH

   อวัยวะเป้าหมาย: ท่อหน่วยไตและหลอดเลือดแดง

   หน้าที่: กระตุ้นการดูดน้ำกลับเข้าสู่ท่อหน่วยไตเมื่อปริมาณน้ำในเลือดลดลงจึงควบคุมการเกิด
               น้ำปัสสาวะ 
   ความผิดปกติ : ถ้าขาดจะเป็นโรคเบาจืด จะปัสสาวะบ่อยเนื่องจาก ท่อหน่วยไตดูดน้ำกลับเข้าสู่
                            ท่อได้น้อย
2.ออกซิโทซิน (Oxytocin)
    อวัยวะเป้าหมาย : กล้ามเนื้อมดลูกและกล้ามเนื้อรอบๆต่อมน้ำนม
    หน้าที่ : กระตุ้นกล้ามเนื้อมดลูกให้บีบหรือหดตัวเป็นระยะๆเพื่อให้ทารกคลอด กระตุ้นการหดตัว
                ของกล้ามเนื้อรอบๆต่อมน้ำนมทำให้มีการหลั่งน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น